Academic Hub
14 กันยายน 2560
เรามักจะสังเกตเห็นว่าในสวนสาธารณะหรือในสนามกีฬามักไม่ค่อยพบเห็นคุณแม่ตั้งครรภ์มาออกกำลังกาย เพราะคุณแม่บางคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์นั้นดีหรือเป็นอันตรายหรือไม่ อย่างไร ? เพราะในขณะที่ตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่างและมีความเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย คือ ระบบการไหลเวียนของเลือด ชีพจรเต้นเร็วขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น เพราะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงมดลูกและตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น เส้นเอ็นต่าง ๆ นุ่มขึ้น ข้อต่อกระดูกหลวมขึ้น รวมทั้งจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมดลูกที่โตขึ้น จึงทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนต้องทำงานหนัก เป็นต้น
การออกกำลังกายจะช่วยทำให้ชีพจรซึ่งเต้นเร็วอยู่แล้วในขณะตั้งครรภ์ยิ่งเต้นเร็วขึ้น โดยเฉพาะที่ผู้มีความดันโลหิตสูงหรือเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วอาจเกิดอันตรายได้ และข้อต่อที่หลวม จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายที่เปลี่ยนไป จะทำให้การทรงตัวไม่ปกติ คุณแม่อาจหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย การเสียเหงื่อจะทำให้เกิดการขาดน้ำ รวมทั้งมีการกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนออกมามากขึ้น ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก ซึ่งเหล่านี้คืออันตรายของการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ที่ทำให้คุณแม่บางคนกลัวว่าจะได้รับอันตรายดังกล่าว แต่สำหรับคุณแม่ทั่วไปที่มีสุขภาพปกติทั่วไป ไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ ยังสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติและ
1.การออกกำลังกายที่ไม่หักโหมมากนักจะทำให้คุณแม่รู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่นสบายตัว มีท่าทางกระฉับกระเฉง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยลดอาการปวดเมื่อยที่หลัง และลดอาการเป็นตะคริวได้
2.ช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบายและผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน รวมถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด
3.คุณแม่จะมีเรี่ยวแรงและพลังในการใช้ชีวิตในแต่ละวันเพิ่มขึ้น เพราะการออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดี รวมทั้งทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานแข็งแรงยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มพลังและความอดทนเมื่อต้องเจ็บครรภ์เป็นเวลานานและตอนเบ่งคลอด
4.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น การขับถ่ายเป็นปกติ ท้องไม่ผูกหรือมีอาการท้องผูกลดน้อยลง
5.การออกกำลังช่วยให้ร่างกายสามารถเผาผลาญอาหารส่วนเกิน ไขมันจึงไม่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากนัก จึงช่วยควบคุมน้ำหนักของคุณแม่มิให้เพิ่มมากขึ้นจนเกินไป และทำให้คุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้นโดยไม่อ้วน แต่ได้ประโยชน์กับลูกน้อย
6.คุณแม่ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการตั้งครรภ์จะส่งผลดีต่อลูกน้อยอย่างมาก เพราะในขณะที่ออกกำลังกาย ระบบการไหลเวียนของเลือดจะดีขึ้น การถ่ายเทออกซิเจนไปสู่ลูกจึงดีขึ้น ทำให้เจ้าตัวน้อยในท้องเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และแข็งแรง ในช่วงต้นของการออกกำลังกาย ฮอร์โมนอะดรีนาลินที่หลั่งออกมาจะผ่านไปยังมดลูกในท้อง ทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกกระปรี้กระเปร่าเหมือนได้ออกกำลังกายไปพร้อม ๆ คุณแม่ ส่วนสารแห่งความสุข (Endorphin) ที่ได้รับจากการออกกำลังกายจะทำให้คุณแม่มีความสุขอยู่นานกว่า 8 ชั่วโมง ลูกจึงมีความสุขไปพร้อมกับแม่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ลูกน้อยยังสามารถทนต่อสภาพความเครียดที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในครรภ์และในระหว่างการคลอดได้ดี ไขมันจะสะสมที่ตัวลูกไม่มาก แม้น้ำหนักแรกคลอดของลูกอาจน้อยไปบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับผิดปกติ แต่จะส่งผลดีในระยะยาว คือ ช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะเด็กอ้วนในระยะ 5 ขวบแรกได้ ซึ่งผลดีนี้อาจจะมีไปถึงช่วงที่โตเป็นผู้ใหญ่ด้วย
7.คุณแม่สามารถปรับตัวได้ดียิ่งขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์
8.คุณแม่จะมีความพร้อมในการคลอดมากขึ้น ถ้ามีการบริหารร่างกายตลอดเวลาการตั้งครรภ์
9.คุณแม่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำมักจะคลอดบุตรง่าย เพราะจากการศึกษาพบว่า คุณแม่ที่เป็นนักกีฬาจะคลอดบุตรได้ง่ายและสะดวกมากกว่าคุณแม่ทั่วไปที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
10.หลังคลอดร่างกายของคุณแม่จะฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็ว ยิ่งถ้าคุณแม่สามารถบริหารร่างกายหลังคลอดด้วยแล้วรูปร่างก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา : https://medthai.com/ท่าออกกำลังกายคนท้อง/